วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บอนไซโพธิ์ขี้นก

ประเดิมด้วยบอนไซ "โพธิ์ขี้นก"


โพธิ์ขี้นก  เป็นไม้ที่พบเห็นขึ้นทั่วไปในบ้านเรา หรือนำมาปลูกกันในบริเวณวัด ส่วนใหญ่จะเห็นขึ้นอาศัยกับซากไม้ หรือตอไม้อื่น แล้วจะหยั่งรากลงสู่พื้นดิน เมื่อโตเต็มที่จะมีกิ่งก้านสาขาและรากขนาดใหญ่ หรือขึ้นอยู่ในซอกตึกซอกกำแพง ซึ่งเกิดจากมูลนกที่กินผลโพธิ์แล้วถ่ายมูลไว้เมื่อได้ความชื้นที่เหมาะสมก็จะขึ้นเป็นต้น จึงเรียกกันว่า “โพธิ์ขี้นก”

เป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นำมาเลี้ยงเป็นบอนไซได้ อาจทำเป็นฟอร์มทรงต้นหรือเกาะหิน เสน่ห์และความสวยงามของบอนไซโพธิ์ขี้นก อยู่ที่ตอหรือลำต้นที่เป็นสีเทาออกขาวและลีลาของราก ถึงแม้ว่าใบจะมีขนาดใหญ่ไปหน่อย แต่ถ้าเพราะเลี้ยงไปนานๆ หรือเป็นบอนไซที่จบแล้ว ขนาดของใบจะเล็กและข้อใบจะถี่

จากประสบการณ์การเลี้ยงบอนไซโพธิ์ขี้นกของผู้เขียน เรื่องดินปลูกเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ตอนที่ยังไม่มีประสบการณ์เคยใช้ดินร่วนผสมปุ๋ยคอกเป็นวัสดุปลูก เมื่อรดน้ำไปนานๆ ดินจะแน่นไม่ระบายน้ำ ทำให้รากฝอยไม่เดิน และเกิดการทิ้งกิ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่นักเลี้ยงบอนไซไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะกว่าที่เราจะสร้างกิ่งบอนไซให้ได้ตามจินตนาการหรือตามจังหวะลีลาตามที่ต้องการได้ ต้องใช้เวลานานอาจถึง 5 – 10 ปี  โพธิ์ขี้นกที่ดินปลูกแน่นหรือแฉะจะทิ้งกิ่งบ่อยมาก ทำให้ฟอร์มหรือทรวดทรงที่ทำไว้เสียหาย บางทีถึงกับต้องรื้อทิ้ง (ตัดแต่งใหม่)

วัสดุปลูกที่เหมาะสมที่ผู้เขียนใช้ในการปลูกบอนไซโพธิ์ขี้นกซึ่งเห็นว่าใช้ได้ผลดีทีเดียว ประกอบด้วยอิฐทุบ  เศษถ่าน ทรายหยาบ และปุ๋ยหมัก ส่วนที่เป็นอิฐทุบถ้าทุบเองให้ใช้ลวตตะแกรง (ที่ใช้ทำมุ้งลวด) ร่อนเอาส่วนที่เป็นผงละเอียดทิ้ง ทั้งอิฐทุบ เศษถ่าน และปุ๋ยหมัก จะระบายน้ำและเก็บความชื้นได้ดี รากฝอยเดินได้สะดวก แทบไม่มีปัญหาการทิ้งกิ่ง


บอนไซโพธิ์ขี้นกในภาพด้านบน ผู้เขียนเลี้ยงมาประมาณ 15 ปีแล้ว โดยไปถาก(ตัด)เอาตอมาจากซากไม้ที่ตายแล้ว มีรากติดมาน้อยมาก เบื้องต้นเอาตอมาอนุบาล ชำไว้ในวัสดุทรายหยาบผสมขุยมะพร้าวเพื่อสร้างราก ได้ 1 ปี ก็เอาขึ้นกระถางเลย ตอเดียวแต่มี 3 ลำต้นเบียดชิดกัน รากไม่ใหญ่เพราะต้นนี้ไม่เน้นการสร้างราก (ดูแล้วเหมือนกับตัดเอาตอไม้มาจิ้มลงในกระถาง) แต่รากหากิน (รากฝอย) แน่นกระถาง

กระถางปลูก เป็นกระถางปูนราคาถูก (เอาประหยัดไว้ก่อน) เคยไปถามราคากระถางดินเคลือบที่จตุจักรแบบและขนาดเท่านี้ ราคาถึง 3000 บาท วิ่งหนีออกจากร้านแทบไม่ทัน

ความนำ

บอนไซ  มีประวัติการเล่นและสืบทอดกันมายาวนาน โดยเฉพาะในประเทศจีน และญี่ปุ่น ถือว่าเป็นเจ้าตำหรับของบอนไซ ปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงและเล่นบอนไซแพร่กระจายไปทั่วโลก

เสน่ห์ของบอนไซ อยู่ที่การทำให้ต้นไม่มีลักษณะแคระ หรือย่อส่วนลงมา มีลักษณะลีลา ทั้งราก ลำต้น กิ่งก้าน ทรงพุ่ม หลากหลายรูปแบบ อันเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ

ผู้เขียนได้เล่นบอนไซมาได้ประมาณ 20 ปี แล้ว ซึ่งเป็นงานอดิเรกในยามว่าง ปัจจุบันมีไม้บอนไซอยู่ในสวนทั้งที่จบแล้วและยังไม่จบประมาณ 50 ต้น

ต้องการสร้างบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงภาพบอนไซ พร้อมประวัติการสร้าง เพื่อผู้ชมจะได้ชมและสัมผัสเสน่ห์ของบอนไซ และเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่ต้องการเล่นไม้บอนไซต่อไป